ชิ้นที่สอง ประเทศเยอรมนีได้หันมาผลิตก๊าซที่มีคุณภาพเท่ากันกับก๊าซเอ็นจีวีเพื่อใช้ในรถยนต์โดยใช้วัตถุอินทรีย์เหลือใช้ เช่น กองขยะ มูลสัตว์ หญ้า และของเสียจากเทศบาลได้มากถึง 3 เท่าของก๊าซเอ็นจีวีที่ประเทศไทยใช้ทั้งหมด โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากๆ (กราฟขวามือ)
โดยปกติ ไบโอก๊าซ (ซึ่งมาจากการหมักหมมของสารอินทรีย์) จะมีส่วนประกอบของก๊าซมีเทนประมาณ 45-75% จึงต้องนำไปผ่านกระบวนการเพิ่มคุณภาพ (Upgrading) ให้เท่ากับก๊าซธรรมชาติ (จากแหล่งฟอสซิลในประเทศฟินแลนด์มีก๊าซมีเทนอยู่ประมาณ 98.1%) จากนั้นก็นำก๊าซไบโอมีเทนและก๊าซธรรมชาติเข้าไปผสมในระบบท่อเดียวกัน ผ่านกระบวนการอัดเพิ่มความดันจนสามารถใช้เติมให้รถยนต์ได้ดังแผนภาพ
หลายประเทศในยุโรปมีการผลิตไบโอก๊าซกันเป็นจำนวนมาก โดยประเทศที่นำหน้าในเชิงปริมาณมากกว่าประเทศอื่นก็คือเยอรมนี โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี พ.ศ. 2563 ให้ได้ถึง 20 เท่าของปัจจุบัน หรือประมาณ 13% ของก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยใช้ทั้งหมด
กลับมาคิดถึงประเทศไทยเราซึ่งตั้งอยู่ในเขตร้อนที่มีศักยภาพที่เหมาะสมกับการเกษตรมากกว่าประเทศในทวีปยุโรป ถ้าเราอยากจะผลิตไบโอก๊าซใช้เองสัก 20-30% ทำไมจะทำไม่ได้ หรือทำไมเราไม่ทำ?
คราวนี้มาถึงการวิเคราะห์ข้อมูล 2 ชิ้นข้างต้นครับ ผมเคยสรุปถึงกระบวนการพัฒนาของแต่ละประเทศภายใต้อิทธิพลของทุนข้ามชาติขนาดใหญ่หรือถ้าใช้คำให้ลึกและทันสมัยกว่านั้นก็คือ “ถอดรหัสแผนพัฒนาภายใต้เงาโลกาภิวัฒน์” ว่ามีอยู่แค่สองขั้นตอนเท่านั้นคือ (1) ล้างสมอง และ (2) ปล้น
กล่าวเฉพาะกิจการพลังงานในบ้านเราซึ่งมีขนาดเกือบ 20% ของรายได้ประชาชาติหรือปีละเกือบ 2 ล้านล้านบาทนั้นก็ไม่พ้นไปจากสองขั้นตอนข้างต้นนี้ กล่าวคือ (1) พ่อค้าจะทุ่มงบประมาณเพื่อล้างสมองคนในชาติซึ่งรวมถึงการศึกษาในระบบด้วย ว่าพลังงานฟอสซิลที่ตนผูกขาดอยู่นั้น ดีอย่างโน้นดีอย่างนี้ เป็นพลังงานสะอาด ทันสมัย มีประสิทธิภาพและราคาถูก จากนั้นก็ลงมือ (2) ปล้นทรัพยากรธรรมชาติที่ควรจะเป็นสมบัติของสาธารณะของทั้งคนรุ่นนี้และคนรุ่นลูกหลานขณะเดียวกันก็ลงมือปล้นโอกาสที่สาธารณะจะได้ใช้แหล่งพลังงานชนิดอื่นที่กลุ่มพ่อค้ารายใหญ่ยังผูกขาดได้ยาก เช่น พลังงานแสงแดด ลม ชีวมวล รวมทั้งจากของเสียที่เป็นอินทรีย์วัตถุในครัวเรือนที่คนเมืองใหญ่ๆ ขนไปทิ้งในชนบทหรือปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะ
ในแต่ละวันของปี 2555 คนไทยใช้ก๊าซธรรมชาติวันละ 4,274 ล้านลูกบาศก์ฟุต โดยที่ใช้มากตามลำดับคือการผลิตไฟฟ้า (59%) โรงแยกก๊าซ (20%) อุตสาหกรรม (14%) และใช้เป็นก๊าซเอ็นจีวีสำหรับยานยนต์ 6% (274 ล้านลูกบาศก์ฟุต) แล้วปริมาณก๊าซที่ว่านี้มีราคาเท่าใด? อันนี้ตอบยากครับ เพราะข้อมูลของทางราชการไม่เปิดเผยเท่าที่ควร แต่เท่าที่กระทรวงพลังงานให้ข้อมูลมา พบว่า ถ้าไม่รวมส่วนที่นำไปผลิตไฟฟ้า ในปี 2554 คนไทยใช้ก๊าซคิดเป็นเงินประมาณ 9.8 หมื่นล้านบาท ถ้ารวมส่วนที่ใช้กับการผลิตไฟฟ้าด้วยผมคาดว่าน่าจะประมาณปีละ 3 แสนล้านบาท
ลองจินตนาการดูนะครับว่า ถ้าประเทศเราหันมาส่งเสริมการใช้ไบโอมีเทนให้เหมือนกับการใช้เอ็นจีวีในรถยนต์ (ที่โปรโมตกันจนติดอันดับสิบของโลก) แล้ว ประเทศเราจะน่าอยู่เพิ่มขึ้นขนาดไหน ขยะ น้ำเสีย แมลงวันก็น้อยลง รายได้นับแสนล้านบาทต่อปีก็กระจายตัว ไม่กระจุกอยู่ในกลุ่มพ่อค้าผูกขาด และสิ่งแวดล้อมโลกก็ดีขึ้นด้วย สิ่งที่เล่ามานี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมไทยถูกล้างสมองและปล้น เราจึงไม่ควรดูดาย...